ประโยชน์ของระบบกักเก็บพลังงาน

Last updated: 15 ก.ค. 2564  |  3238 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประโยชน์ของระบบกักเก็บพลังงาน

  ประโยชน์ของระบบกักเก็บพลังงาน   

                          ระบบกักเก็บพลังงานแบบต่างๆ มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป คุณสมบัติสำคัญที่ต้องพิจารณาในการเปรียบเทียบ เช่น พิกัดกำลัง ระยะเวลาในการจ่ายพลังงาน ประสิทธิภาพในการชาร์จ และจ่ายไฟฟ้า อายุการใช้งาน ราคาต่อความจุไฟฟ้า (เมกะวัตต์-ชั่วโมง) ราคาต่อกำลังไฟฟ้า (เมกะวัตต์)

                             ระบบกักเก็บพลังงานมีความจําเป็นสำหรับระบบไฟฟ้าในอนาคตเป็นอย่างมาก ประโยชน์หลักของระบบกักเก็บพลังงาน คือ การสนับสนุนการรักษาสมดุลของระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะ ในระบบที่มีพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่แน่นอนในสัดส่วนสูง รวมถึงยังสนับสนุนการตอบสนองด้านโหลดและช่วยรักษาเสถียรภาพและคุณภาพไฟฟ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้า

                             ในปัจจุบันมีความพยายามในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตามการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบางประเภทมีความไม่แน่นอนสูง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม เป็นต้น ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาจะเป็นไปตามสภาพภูมิอากาศ ณ เวลานั้น เช่น ความเร็วลม ความเข้มแสงอาทิตย์ เป็นต้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่หน่วยงานด้านการไฟฟ้าหรือผู้บริหารงานโครงข่ายไฟฟ้านั้น มองว่าพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาต่อเชื่อมกับระบบไฟฟ้าจะเพิ่มความซับซ้อนในการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการไฟฟ้ากับการผลิตไฟฟ้า

 

 



                            ปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าบางส่วนได้เริ่มผันตัวเองมาเป็น โปรซูมเมอร์ (Prosumer) นั่นคือ มีการติดตั้งแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นของตนเอง จึงมีบทบาทเป็นทั้งผู้บริโภคไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า โดยส่วนมากแล้วระบบผลิตไฟฟ้าของโปรซูเมอร์เหล่านี้จะเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา เป็นต้น ซึ่งจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการและในปริมาณที่ต้องการได้อย่างเสมอไป กำลังการผลิตในช่วงเวลาใด ๆ จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในช่วงเวลานั้น หากไม่มีแดดหรือลมไม่แรงจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ตัวอย่าง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน โดยมีรูปแบบเฉพาะตัวนั่นคือกำลังการผลิตไฟฟ้า จะเพิ่มขึ้นหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นและจะสูงสุดในช่วงเที่ยงวัน ซึ่งมีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงสุด หลังจากนั้นจะลดลงจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน ทั้งนี้รูปแบบการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ไฟฟ้าของโปรซูเมอร์รายนั้น ตัวอย่างเช่น ในบ้านที่ไม่มีคนอยู่อาศัยในช่วงกลางวันจะไม่มีการใช้เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านมากนัก ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเที่ยงวัน แต่จะมีความต้องการไฟฟ้าน้อยมากในช่วงเวลาดังกล่าว จึงทำให้การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามเมื่อมีการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้จะสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มากช่วงกลางวันซึ่งมากักเก็บไว้ก่อนในช่วงที่ยังไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า จากนั้นจึงใช้ไฟฟ้าที่กักเก็บไว้ในช่วงเย็นหรือหัวค่ำ

 

 

ประชาสัมพันธ์
Solen Energy Thailand
15 ตุลาคม 2563

   แหล่งที่มา : https://thai-smartgrid.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้